Solar Tecnology Knowledge

พลังงานแสงอาทิตย์ อีกหนึ่งพลังขับเคลื่อนพลังงานทดแทนไทย
ด้วยกระแสการตื่นตัวกับสภาวะโลกร้อน ที่ต้องการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบกับประเทศไทยต้องการลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ทางรัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน จัดทำแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้อยให้ได้ 25% ภายใน 10 ปี (2555-2564) เพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศขึ้นมา อันจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้ทางหนึ่ง และช่วยกระจายความเสี่ยงในการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

 

กระทรวงพลังงานได้คาดการณ์ความต้องการใช้พลังงานของประเทศในปี 2564 จะมีความต้องการถึง 99,838 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากปัจจุบัน 71,728 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ขณะที่แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (2555-2573) กำหนดให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่างๆ ไว้ถึง 9,481 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นปี 2573 โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการตั้งเป้าหมายไว้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 จากปัจจุบันที่มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วกว่า 336 เมกะวัตต์

ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยมีค่อนข้างมาก ด้วยภูมิประเทศที่อยู่ในเส้นศูนย์สูตร ทำให้ได้รับพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉลี่ยทั้งปีสูงกว่าเขตอื่นๆ ของโลก ซึ่งการศึกษาจากข้อมูลดาวเทียมประกอบการตรวจวัดภาคพื้นดินของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) พบว่าพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย ซึ่งมีความเข้มรังสีแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีประมาณ 18.2 เมกะจูลต่อตารางเมตร ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และอุดรธานี และบางส่วนอยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง เช่น สระบุรี ลพบุรีและพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์

จากศักยภาพดังกล่าว ทางภาครัฐจึงได้พยายามส่งเสริมให้ภาคเอกชนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยการสนับสนุนทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการด้านภาษีและการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน เช่น การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ การสนับสนุนการกู้ยืมเงินทุนและเงินหมุนเวียนผ่านสถาบันการเงิน เป็นต้น ส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมา มีเอกชนให้ความสนใจยื่นเสนอขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3,393 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม จากที่มีผู้สนใจลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก เกินกว่าเป้าหมายที่รับซื้อ 2,000 เมกะวัตต์ กระทรวงพลังงานจึงได้หยุดการรับซื้อไฟฟ้าที่ให้ Adder 8 บาทต่อหน่วย ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 เป็นต้นมา และปรับลด Adder ลงมาเหลือเพียง 6.50 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปีแทน เนื่องจากต้นทุนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ปรับตัวลดลง

 

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เกินระยะเวลากำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เพื่อยกเลิกใบอนุญาต โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการยกเลิกไปแล้วประมาณ 400-500 เมกะวัตต์ เพื่อนำไปสู่การลงทุนที่แท้จริง รวมถึงการปรับปรุงรูปแบบการสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Feed-in Tariff ที่ให้ราคาคงที่ ประมาณ 6.80 บาทต่อหน่วย ตลอดอายุสัมปทานต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้ามาลงทุนทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ควรจะต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น การมีที่ดินมากพอในการสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ 1 เมกะวัตต์นั้น ต้องใช้พื้นที่ในการตั้งแผงโซลาร์เซลล์ถึง 15 ไร่ รวมทั้งยังต้องศึกษาสภาพพื้นที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าว่ามีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้ เทคโนโลยีที่ใช้ในการก่อสร้างก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะแผงโซลาร์เซลล์จะมีอายุราวๆ 25 ปี ทำให้ค่าดูแลและบำรุงรักษาในแต่ละปีค่อนข้างสูง

 

ขอบคุณบทความ :